พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ทรงสนพระราชหฤทัยการถ่ายภาพอย่างจริงจังมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าในสมัยก่อนนั้น อุปกรณ์การถ่ายภาพต่างๆ ยังไม่ทันสมัยอย่างในปัจจุบันนี้ แต่พระองค์ก็ทรงศึกษา และฝึกด้วยพระองค์เอง ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพ ทรงคิดค้นและประดิษฐ์แว่นกรองแสงพิเศษ ทรงนำไปทดลองฉายพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎร นอกจากแผนที่อันเป็นอุปกรณ์คู่พระราชหฤทัยแล้ว อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ กล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ที่อยู่เคียงกันไปในทุกแห่ง ไม่ว่าจะเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฏร เสด็จไปทรงงานตามพื้นที่ต่างๆ หรือแม้แต่เสด็จมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราชเพื่อรักษาพระอาการประชวร
พระราชอัธยาศัยโปรดการถ่ายภาพนี้ทรงได้ต้นแบบมาจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ โดยทรงเริ่มจากกล้องถ่ายภาพชนิดที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัว ทำให้ต้องใช้พระราชวิจารณญาณอย่างละเอียดรอบคอบ และพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์ในการถ่ายภาพแต่ละครั้ง
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิได้ทรงถ่ายภาพเพื่อศิลปะแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศชาติ นำความผาสุขร่มเย็นมาสู่ประชาชนชาวไทยได้อย่างดี
การถ่ายภาพเป็นศิลปะอีกสาขาหนึ่งที่ในหลวงทรงสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจัง พระองค์ทรงศึกษา และทรงฝึกด้วยพระองค์เองตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ กล้องถ่ายภาพที่ทรงใช้ในระยะเริ่มแรกเป็นกล้องที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัว จึงต้องใช้พระราชวิจารณญาณอย่างรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วน
แม้ในปัจจุบันกล้องถ่ายภาพจะมีวิวัฒนาการขึ้นกว่าสมัยก่อนมากแล้ว แต่พระองค์ก็มิทรงใช้ พระองค์ยังทรงใช้กล้องคู่พระหัตถ์แบบมาตรฐาน อย่างที่นักเลงกล้องรุ่นเก่ามือโปรทั้งหลายใช้กันอยู่
รวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในอ้อมพระกร” ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย
ถ่ายเมื่อปีค.ศ.1962 (พ.ศ.๒๕๐๕)
พระองค์ทรงรักพระราชินีของพระองค์มากๆ พระองค์ท่านจะถ่ายแต่รูปพระราชินีที่มีพระสิริโฉมงดงามของพระองค์
ทูลกระหม่อมทั้ง ๔ พระองค์ ทรงวางพระหัตถ์ขวาเรียงเทียบขนาดกัน พระองค์ทรงถ่ายภาพพระหัตถ์ใหญ่พระหัตถ์เล็กต่างขนาดกัน ที่ทรงวางเรียงรายเสมือนเป็นการทรงสมัครสมานสามัคคีระหว่างพี่ๆ น้องๆ